โครงการพัฒนาและส่งเสริมการผลิตกล้วยตากบ้านเกาะคู
ตำบลบางกระทุ่ม อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก

 

ความเป็นมา
 

เมื่อวันที่ 29  ธันวาคม 2536 นายประภาส สิงหลักษณ์ อดีตกำนันตำบลบางกระทุ่ม และครอบครัว ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินจำนวน 15 ไร่ 88 ตารางวา แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินแปลงดังกล่าว ให้กับมูลนิธิชัยพัฒนา  เพื่อให้ดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่มีอาชีพผลิตกล้วยตากในพื้นที่อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก  ต่อมา สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ร่วมกับสำนักงาน กปร. ได้เข้าพิจารณาการใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว โดยเห็นว่าพื้นที่เดิมมีการทำกล้วยตากบรรจุในบรรจุภัณฑ์และจัดจำหน่าย โดยดำเนินการจัดทำตามวัตถุประสงค์ของผู้น้อมเกล้าฯถวาย ในรูปแบบของกลุ่มย่อย  โดยการจัดตั้ง โครงการพัฒนาและส่งเสริมการผลิตกล้วยตากบ้านเกาะคู ตำบลบางกระทุ่ม อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพพันธุ์กล้วย และผลผลิตกล้วยเพื่อนำไปแปรรูป และพัฒนาตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อนำไปใช้ในการอบกล้วยตากเพื่อจำหน่ายต่อไป

ผลการดำเนินงาน
ได้มีการรวมตัวกัน และได้ดำเนินการจัดทำอาคารและโรงแปรรูปกล้วยตากในพื้นที่ของมูลนิธิชัยพัฒนาจำนวนประมาณ 5 ไร่ โดยมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นผู้ดำเนินการออกแบบและก่อสร้างโรงอบกล้วยตากโดยใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่  แต่ประสบปัญหาทำให้ไม่สามารถอบกล้วยตากได้ จึงได้ยกเลิก และหันมารวมกลุ่มการทำกล้วยตากด้วยวิธีเก่า คือการตากโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ โดยมีนายประภาส สิงหลักษณ์ เป็นประธานกลุ่ม ซึ่งได้ดำเนินการในที่ดินของมูลนิธิฯ ต่อมา การรวมกลุ่มประสบปัญหา ขาดความร่วมมือจากสมาชิกในชุมชน และไม่มีความก้าวหน้าตามที่คาดการณ์ไว้ และพื้นที่ที่เหลือจำนวนประมาณ 10 ไร่ ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เนื่องจากประสบปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่มาตลอด ทำให้ไม่สามารถปลูกต้นไม้หรือใช้ประโยชน์ในด้านอื่นได้ภายหลังจากได้มีการสร้างเขื่อนแควน้อย ขึ้นในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ทำให้น้ำไม่ท่วมในบริเวณพื้นที่โครงการฯ  และสามารถเพาะปลูกได้ดีขึ้น สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา จึงได้ร่วมกับคณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้  ในการสำรวจสภาพพื้นที่ของโครงการฯ อีกครั้ง เพื่อหาแนวทางการพัฒนาที่ดินแปลงดังกล่าว โดยจะจัดทำแปลงสาธิตการปลูกไม้ผลแบบผสมผสาน รวมทั้งดำเนินการทดสอบปลูกข้าวพันธุ์ดี เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีทางเลือกเสริมมากขึ้น  นอกจากนี้ จะสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มในรูปแบบของสหกรณ์ เพื่อให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชนและสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็ง และจะเริ่มดำเนินการในปี 2552

หน่วยงานรับผิดชอบ
สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และกรมส่งเสริมสหกรณ์
การดำเนินการงานในระยะต่อไป

1. ให้การสนับสนุนส่งเสริมกลุ่มชาวบ้าน ให้มีการดำเนินการที่เข้มแข็งมากขึ้น
2. ให้การสนับสนุนในด้านของวิชาการ และแนวทางการตลาด
3.  ศึกษาหารูปแบบที่เหมาะสมในการจัดทำพัฒนาพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นแปลงสาธิตฯ ต่อไป

 

 

 


Free Web Hosting